ข้ามไปเนื้อหา

ผึ้งหลวง ส.สิงห์อยู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผึ้งหลวง ส.สิงห์อยู่
เกิดปัญญา อุทก
16 เมษายน พ.ศ. 2531 (36 ปี)[remark 1]

ผึ้งหลวง ส.สิงห์อยู่ เป็นอดีตแชมป์โลกขององค์กรมวยโลก (WBO) 2 สมัย ในรุ่นแบนตัมเวท (118 ปอนด์)

ประวัติ

[แก้]

ผึ้งหลวง มีชื่อจริงว่า ปัญญา อุทก (ชื่อเล่น: บอมบ์) เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดอุทัยธานี เป็นบุตรของนายวิรัตน์และนางสนิท อุทก จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดดอนตูม ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เคยขึ้นชกมวยไทยมาก่อน แล้วจึงหันมาชกมวยสากลอาชีพภายใต้การจัดการของ ปริยากร รัตนสุบรรณ เมื่อ พ.ศ. 2547 โดยขณะนั้นผึ้งหลวงยังเป็นเพียงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาอยู่ และได้ครองแชมป์โลกเยาวชน WBC รุ่นแบนตัมเวท เมื่อ พ.ศ. 2549 ป้องกันตำแหน่งไว้ได้หลายครั้ง จนไปเสียแชมป์ที่เบลเยียมเมื่อ พ.ศ. 2552 จากนั้น ผึ้งหลวงหันมาชิงแชมป์ WBO เอเชียเยาวชน และแชมป์ WBO เอเชียตะวันออกและได้ครองแชมป์ระหว่าง พ.ศ. 2552 - 2555 จนได้เป็นรองแชมป์โลก WBO อันดับสูงในรุ่นแบนตัมเวท

ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ผึ้งหลวงได้ขึ้นชิงแชมป์โลกที่ว่างของ WBO รุ่นแบนตั้มเวท กับ เอเจ บานัล นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ถึงประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นถิ่นของบานัลเอง ผลปรากฏว่าผึ้งหลวงสามารถเอาชนะทีเคโอได้ในยกที่ 9 นับเป็นนักมวยชาวไทยคนแรกที่ได้แชมป์โลกจากประเทศฟิลิปปินส์

ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 ผึ้งหลวงป้องกันตำแหน่งครั้งแรกกับ พอลลัส อัมบุนด้า นักมวยชาวนามิเบีย ถึงประเทศนามิเบีย (ตามเวลาในประเทศนามิเบียเป็นคืนวันที่ 2 มีนาคม) ปรากฏว่าผึ้งหลวงเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไป 115-113, 116-112 และ116-112 ทำให้เสียตำแหน่งไปในการป้องกันตำแหน่งครั้งแรกนี่เอง ซึ่งในมุมมองของทางฝั่งผึ้งหลวงเห็นว่าเป็นฝ่ายถูกปล้นชัยชนะ โดยเฉพาะในยกสุดท้ายที่อัมบุนด้าถูกหมัดของผึ้งหลวงจนออกอาการเกือบจะล้ม แต่ก็โผเข้ามากอดถ่วงเวลา จนเอาตัวรอดไปได้ แต่กรรมการบนเวทีก็ไม่ได้สั่งห้าม [1]

ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ผึ้งหลวงได้มีโอกาสขึ้นชิงแชมป์โลกอีกครั้ง ในฐานะที่เป็นรองแชมป์โลกอันดับ 1 ในรุ่นและสถาบันเดิมกับ โทโมกิ คาเมดะ นักมวยชาวญี่ปุ่น ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งโทโมกิ คาเมดะ ยังไม่เคยมีสถิติแพ้หรือเสมอมาก่อนด้วย[2] แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาชกที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา แทน และเปลี่ยนวันที่เป็น 13 กรกฎาคม ปีเดียวกัน [3] ผลการชกปรากฏว่า ผึ้งหลวงเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปในยกที่ 7 ด้วยการถูกหมัดชกถูกลำตัว[4]

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ผึ้งหลวงได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้ง กับ เรียว อากาโฮะ นักมวยชาวญี่ปุ่น ที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากคาเมดะถูกปลดแชมป์โลก ปรากฏว่าผึ้งหลวงกลับมาเป็นแชมป์โลกได้อีกครั้ง เมื่อเอาชนะน็อกอากาโฮะได้เพียงแค่ยกที่ 2 เท่านั้น

แต่ในการป้องกันตำแหน่งครั้งที่สองกับมาร์ลอน ทาปาเลส ผู้ท้าชิงรองแชมป์โลกอันดับหนึ่งชาวฟิลิปปินส์ ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผึ้งหลวงเป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในเวลา 37 วินาที ของยกที่ 11 ทั้งที่เป็นฝ่ายชกทาปาเลสลงไปให้กรรมการนับ 8 ได้ก่อนถึง 2 ครั้ง ในยกที่ 5 แต่ไม่สามารถที่จะเอาชนะทาปาเลสได้ ซ้ำในยกที่ 6 ยังเป็นฝ่ายถูกนับ 8 บ้าง และตั้งแต่ยกที่ 9 ก็ได้รับบาดเจ็บจนกรามหัก แต่ยังคงชกต่อไปจนกระทั่งแพ้ไปในที่สุด โดยขณะนั้นคะแนนของผึ้งหลวงยังนำอยู่จากกรรมการให้คะแนน 2 ท่าน จากทั้งหมด 3 ท่าน[5]

เกียรติประวัติ

[แก้]
  • รางวัลเกียรติยศบุคคลในวงการกีฬามวยประจำชาติ ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2556)
    • นักมวยสากลอาชีพดีเด่น[7]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ในนิตยสารมวยโลกระบุว่าเกิด 8 เมษายน พ.ศ. 2532?

อ้างอิง

[แก้]
  1. “ผึ้งหลวง” โดนปล้นชัย แพ้ค้านสายตานักชกเจ้าถิ่น จากเดลินิวส์
  2. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, 'คาเมดะ'ลั่นล้มผึ้งหลวงชก'เม็กซิกัน' . เดลินิวส์ฉบับที่ 23,556: วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย
  3. ""ผึ้งหลวง"ส้มหล่นบินชกลาสเวกัส". ผู้จัดการออนไลน์. 16 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 18 May 2014.
  4. ""ผึ้งหลวง" พลาดท่าถูกยุ่นน็อคร่วงร่วงยก 7". ผู้จัดการออนไลน์. 13 July 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-29. สืบค้นเมื่อ 13 July 2014.
  5. หน้า 19 ต่อจากหน้า 17 กีฬา, ผึ้งหลวงเจอตอถูกชกกรามหักแชมป์โลกหลุด. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,395: วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 แรม 9 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก
  6. เทปการชกกับ ดานิลโล พีนา,.
  7. แก้วซิวสากลดีเด่นบุคคลกีฬามวย, คอลัมน์ย่อยข่าวกีฬา. หน้ากีฬา 19 เดลินิวส์ฉบับที่ 23,220: วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง
  • สถิติการชก
  • นิตยสารมวยโลก. ปีที่ 17 เล่มที่ 1136. ผึ้งหลวง ส.สิงห์อยู่ นักชกขวัญใจนักเรียนคนใหม่. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], มิถุนายน 2550. หน้า 18-19.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]